ประวัติความเป็นมาของกระทรวงมหาดไทย
ลักษณะงานอันเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทยนั้นมีหลักฐานปรากฎในประวัติศาสตร์การปกครองของไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วนับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นปฐมราชธานี เมื่อราว พ.ศ. 1800 มาจนถึง สมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายพลเรือนในรูป ( จตุสดมภ์ เมือง วัง คลัง นา ) โดยให้กรมเมือง มีหน้าที่ในการปกครองท้องที่ รักษาสันติสุข บังคับบัญชาบรรดาพลเรือน ตราบจนถึงรัชสมัย ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถราว พ.ศ. 2006 ได้กำหนดให้มีกรมมหาดไทยดูแลบริหารราชการฝ่ายพลเรือนสืบทอดมาจึนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี พ.ศ. 2435 กล่าวได้ว่า เป็นการรวบรวมงานมหาดไทยมาอยู่ในที่เดียวกันอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า ในยุคสมัยนั้น ระเบียบการปฏิบัติงานต่างๆ ขาดความชัดเจน งานที่ปฏิบัติก็ยังเหลื่อมซ้อนกันกับหน่วยงานอื่นๆ รวมตลอดจนวิธีการปฏิบัติงานก็ล้าสมัย จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงมีพระราชดำริเป็นยุติให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฟื้นราชการมหาดไทยทั้งกระทรวง
นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯ ได้ทรงทำการปรับปรุงงานของกระทรวงมหาดไทยหลายประการ อาทิแก้ไขระเบียบการปฏิบัติงาน ยกเลิกประเพณีที่ให้เจ้าหน้าที่ ต้องไปเสนอราชการที่บ้านเสนาบดี เลิกประเพณีที่เสนาบดีเอาตราตำแหน่งไปไว้ที่บ้าน กำหนดระเบียบการออกตรวจราชการหัวเมือง ให้มีการจัดสร้างศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ริเริ่มแนวคิดการทำงานของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข โดยการทำนุบำรุงบ้านเมืองเสียแต่ยามปกติ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยดำเนินการ รวมตลอดจนการจัดตั้งกรมต่างๆ ขึ้น และรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเดิมกระจายอยู่ถึง ๓ กระทรวงให้มาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงแห่งเดียว เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมที่ผ่านมาทั้งในด้านการจัดองค์กร วิธีการปฏิบัติงานและตัวบุคลากร ทุกอย่างต้องได้รับการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนทางสังคมทั้งภายในและภายนอก ประเทศที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายของจุดเน้นจะอยู่ที่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ภารกิจหลากหลายในความรับผิดชอบต้องมีการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน สับสนทั้งผู้ปฏิบัติและผู้รับบริการการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจะเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน ซึ่งอนาคตนับแต่นี้ไป จะถูกชี้นำด้วย นโยบายและแผน อย่างมีระบบตัวผู้ปฏิบัติหรือบุคลากรของ มหาดไทยทุกระดับจะได้รับการพัฒนาทั้ง คุณภาพ ทัศนคติ และ พฤติกรรมให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งทำงานเพื่อประชาชน
ในการเรียบเรียง “ประวัติมหาดไทย” ปัญหาข้อแรกที่เข้ามากระทบความรู้สึกของเราและจะผ่านเลยไปได้ยาก ก็คือความหมาย ของคำว่า “มหาดไทย” อันชื่อหน่วยราชการในเมืองไทยของเรานั้น มีหลายชื่อที่ค้นหาความหมายที่แท้จริงไม่ได้ เช่น ชื่อ กระทรวง “มหาดไทย” “กลาโหม” ฯลฯ ชื่อกรมก็มี “พลัมภัง” กรมนี้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน แต่เปลี่ยนชื่อเป็นอื่นไปเสียแล้ว
ความหมายเรื่องคำว่า “มหาดไทย” และ “กลาโหม” นี้ แม้จะขบคิดกันมาก และมีปราชญ์ใหญ่หลายท่าน เช่น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชา นุภาพ เป็นต้น ได้ทรงอรรถาธิบายไว้ แต่ก็ยังไม่ลงความเห็น ที่เชื่อได้แน่นอนว่า แปลว่ากระไร ทั้ง ๆ ที่หน้าที่งาน ของทั้งสองกระทรวงนี้
ยังคงปฏิบัติอยู่ ตามสภาพเดิมมิได้เปลี่ยนแปลง คือ กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ป้องกันชาติ ส่วนกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ ปกครองทะนุบำรุง ชาติ คือ กระทรวงแรกนั้น “รบ” แต่กระทรวงหลังนั้น “รักษ์” ซึ่งในปัจจุบันก็กำลังทำหน้าที่นี้อยู่ มิได้เปลี่ยนแปลง ไปจากเดิม
ในราชการของชาติไทยในปัจจุบันนี้ ยังคงใช้คำที่มี “มหาดไทย” นำหน้าอยู่สองคำ คือ
1. มหาดไทย
2.มหาดเล็ก
แต่ภาษาไทยโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำแหน่งราชการอีกตำแหน่งหนึ่ง ขึ้นต้นด้วย “มหาด” เหมือนกัน คือ “มหาดอาษา” เรื่องมีมาว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2456 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปราชการหัวเมืองผ่ายใต้ไปทรงได้ต้นฉบับ
พระราชกฤษฎีกาในสมัยพระพุทธเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยา (2246 – 2251 ) มาฉบับหนึ่ง จากวัดเขียน ที่บางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป็นสมุดข่อยไทย กระดาษสมุดเพลาเขียนด้วยดินสอดำอักษรไทยย่อมีตรารูปเทวดาและตราบัวแก้ว ของทางราชการ เป็นสำคัญความในพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นเรื่องพระครูอินทรา ได้ถวายพระพรแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ ขอให้ทรงอุปถัมภ์วัดในเมืองพัทลุงตามราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์
แต่โบราณทรงมีพระราชกำหนดไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ ก็พระราชทานให้ตามประสงค์ในพระราชกฤษฎีกาได้ระบุบุคลให้เป็นข้าพระสำหรับดูแลวัดวาอารามและพระภิกษุสงฆ์ในเขตเมืองพัทลุง กรมการบ้านเมือง หรือส่วนราชการใด ๆ ในท้องที่นั้น จะเข้าไปกะเกณฑ์บุคคลที่ระบุว่า เป็นข้าพระให้ไปทำราชการหรืองานอื่นใดมิได้
ต้นเหตุที่เกิดพระราชกฤษฎีกานี้มีเรื่องปรากฏตามตำนานสะทังพระว่า ในคราวนี้พวกแขก อุยังตนะ (แปลว่า ผู้อยู่ปลายแหลมเห็นจะเป็น
พวกยะโฮร์ หรือพวกมะละกา) ได้เปลี่ยนลัทธิศาสนาพุทธมานับถือศาสนาอิสลาม เมื่อมีผู้เลื่อมใส ได้กำลังผู้คนมากขึ้นจึงได้ยกทัพเข้ามาตี
ชายแดนไทยเรื่อยขึ้นมาจนถึงเมืองพัทลุง ไพร่บ้านพลเมืองพากันหวาดกลัวอพยพหลบหนีกระจัดกระจาย ไปอยู่ ตามป่าตามเขาทั่วไป สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ไม่ทราบว่าพระองค์ไหน) ได้โปรดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ที่ราษฎรเลื่อมใสออกไปตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนที่แตกฉาน
ซ่านเซ็นอยู่นั้น ให้เข้ามาอยู่รวบรวมกันเป็นหมู่เป็นตำบล และเพื่อที่จะถนอมน้ำใจของประชาชน ซึ่งกำลังหวาดหวั่นพรั่นพรึงอยู่นั้นให้เชื่อมั่นในความสุขที่จะได้รับเมื่อกลับเข้าอยู่ในอำนาจปกครองของบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ จึงได้โปรดให้ตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นราชการแก่บุคคลที่พระสงฆ์ไปเกลี้ยกล่อมมานั้น โดยมีพระประสงค์จะให้คนเหล่านั้นได้ช่วยพระสงฆ์บำรุงพระศาสนาแต่ด้านเดียวและเพื่อให้เป็นหลักฐานประกันมิให้เจ้าเมืองและกรมการใด ๆ ไปรบกวนกะเกณฑ์ให้คน เหล่านี้ไปกระทำงานหรือไปราชการอื่นนอกเหนือไปจากพระราชกำหนดจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ บุคคล ที่ยกเว้นราชการเหล่านี้เรียกว่า “ข้าโปรดคนทาน” หรือพวก “ข้าพระ” ในชั้นหลัง ๆ เรียกกันว่า “เลกวัด” คือ คนสำหรับใช้งานวัด คนจำพวกนี้ห้ามเจ้าเมืองกรมการใด ๆ เกณฑ์เข้ารับราชการไม่ว่าหน้าที่ใด ห้ามเก็บภาษีอากรทุกชนิด ไม่ว่าอากรเรือกสวนไร่นา ข้อความในพระราชกฤษฎีกาตอนนี้ระบุว่า
อนึ่ง มีตำราพระราชโองการ (ระเบียบหรือกฎราชการ) ให้ห้ามสมรสและ “มหาดอาษา” และเบี้ยผลอากรนาพนัสที่ภูมิทาน พระกัลปนา…” ข้าพระกัลปนา หรือ พวกข้าโปรดคนทานเหล่านี้ มีระเบียบแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ห้ามสมรสและห้าม (เป็น) มหาดอาษาได้กิดปัญหาขึ้นว่า “มหาดอาษา” นี้ คือ คนประเภทใด
เป็นอันว่า เรายังออกไปไม่พ้นจากความสนเท่ห์ของคำว่า “มหาดไทย” และคำว่า “มหาด” ทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วด้วย จำเป็นจะต้องหา ความกระจ่างในถ้วยคำเหล่านี้ ที่จริงคำเหล่านี้มีผู้สงสัยและตั้งปัญหาขึ้นไต่ถามมาช้านานแล้ว แต่มิได้มีผู้ใดไขความให้กระจ่างได้ มีปราชญ์
ทางประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหลวงวิจิตรวาทการ ก็ได้ทรงมีและมีอรรถาธิบายโดยนัยต่าง ๆ กัน จึงเห็นสมควรจะประมวลความเห็นนั้น ๆ รวมไว้เสียในที่นี้ เพื่อได้เป็นที่รวมแห่งการค้นคว้าความหมายของคำนี้แม้แต่ละท่านจะแสดง อรรถาธิบายโดยอัตโนมัติ มิได้ลงความเห็นแน่นอน ประการใดก็ตามที
ความเห็นที่ 1 กระแสพระดำริของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อรรถาธิบายนี้ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และพระบิดาแห่งราชการมหาดไทยสมัยใหม่ ได้ประทานอรรถาธิบายแก่ พระยาอินทรมนตรี
ผู้ทูลถวายข้อปัญหาขอรับพระอธิบายไว้ด้วยข้อความค่อนข้างยืดยาว ปรากฏสำเนาลายพระหัตถ์นั้น ดังนี้คำถามที่ 5 ว่า คำ “กลาโหม”
กับคำ “พลัมภัง” ที่เรียกเป็นชื่อกรมนั้น มาแต่อะไร
ตอบคำถามที่ 5 ต้องเพิ่มคำ “มหาดไทย” เข้าอีกคำ 1 เพราะใช้เป็นชื่อกรมคู่กับ กลาโหม มหาดไทยและพลัมภัง ทั้ง 3 คำนี้ มิใช่ภาษาไทย คงเป็นคำมาแต่ภาษาสันสกฤตหรือภาษามคธ (ฝรั่งเรียกว่าภาษา “บาลี”) ได้ลองค้นดูในหนังสือพจนานุกรมภาษาบาลีของอาจารย์ซิลเดอร์พบคำ “กลโห” Kalaho มีอยู่ในนั้นแปลความว่า “วิวาท” Quarrel อย่าง 1 ว่า “วุ่นวาย” Strife อย่าง 1 ว่า “รบประจัญบาน” Battle อย่าง 1
ดูสมกับที่เอามาใช้เป็นชื่อกรมฝ่ายทหารในพจนานุกรมนั้นมีอีกคำหนึ่งว่า “มหทย” Mahadaya แปลความว่า “เมตตายิ่ง”
Very Compassionate อย่าง 1 “กรุณายิ่ง” Very Merciful อย่าง 1 ดูก็สมกับที่เอามาใช้เป็นชื่อกรมฝ่ายพลเรือน แต่คำพลัมภังมีเพียงเค้าเงื่อนในพจนานุกรมเป็น 2 ศัพท์ คือว่า “พลัม” แปลว่า Strength, Power, Force ล้วนหมายความว่ากำลังอย่าง 1 อีกนัยหนึ่งแปลว่า
“ทหารบก” Army หรือ “กองทหาร” Troop และในพจนานุกรมมีอีกคำหนึ่งว่า “อัมโภ” Ambho แปลว่า “ก้อนกรวด” Pebble ถ้าเอา 2 คำนี้เข้าสนธิกันเป็น “พลัมโภ” ดูใกล้กับคำพลัมภัง ประหลาดอยู่ที่ตามกฏหมายทำเนียบศักดินามีกรมพลัมภังอยู่ทั้งในกระทรวงมหาดไทย และในกระทรวงกลาโหม เจ้ากรมพลัมภัง มหาดไทยเป็นที่พระยาจ่าแสนยบดีและเจ้ากรมพลัมภังกลาโหมเป็นพระยาศรีเสาวราชภักดี ฉันได้เคยสืบถามพวกข้าราชการชั้นเก่าในกระทรวงมหาดไทยว่ากรมพลัมภังนั้นกล่าวกันมาว่าแต่โบราณเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับคุมปืนใหญ่ ถ้าเช่นนั้นชื่อกรมพลัมภังก็อาจจะมาแต่คำ “พลัมโภ” ที่ในพจนานุกรมแปลคำ “อัมโภ” ว่า “ก้อนกรวด” อาจหมายถึงวัตถุที่ใช้เป็นกระสุนของปืนใหญ่ชั้นเดิมก็เป็นได้ ความที่สันนิษฐานมาเป็นวินิจฉัยมูลของคำ “กลาโหม” “มหาดไทย” และ “พลัมภัง” ว่ามาแต่อะไร
ยังมีวินิจฉัยที่ควรกล่าวต่อไปถึงเหตุที่เอาคำ “กลาโหม” กับ “มหาดไทย” มาใช้เป็นชื่อกรมอธิบายข้อนี้มีอยู่ในหนังสือ พระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยากับในกฏหมายทำเนียบศักดินาประกอบกันว่า เมื่อ พ.ศ. 1998 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้กำหนดข้าราชการเป็น “ฝ่ายทหาร” และ “ฝ่ายพลเรือน” ทรงตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้น 2 คน คือ เจ้าพระยามหาเสนาบดี ให้เป็น หัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหารคน 1 เจ้าพระยาจักรี ให้เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือน คน 1 ผู้ช่วย Staff ของอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายทหารรวมเข้าเป็นกรม ให้เรียก
“กรมกลาโหม” ผู้ช่วยของอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนก็รวมเป็นกรมเช่นเดียวกัน ให้เรียกว่ากรมมหาดไทย จึงมีกรมกลาโหมและกรมมหาดไทยเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ เพิ่งมาบัญญัติให้เรียกกรมที่มีเสนาบดีเป็นผู้บัญชาการว่า “กระทรวง” (ตรงกับ Ministry) เมื่อรัชกาลที่ 5
เป็นอันว่า “มหาดไทย” น่าจะมาจาก “มหทย” (Mahadaya) ซึ่งแปลว่า เมตตายิ่ง หรือกรุณายิ่ง ตรงกับงานและหน้าที่ของมหาดไทยเป็นที่สุด การที่เราเขียน มหทย เป็นมหาดไทย จะเป็นด้วยเขียนตามสำเนียงที่เปล่งออกมา หรืออักขระกลายรูป อย่างไรอย่างหนึ่งก็เป็นได้
ความเห็นที่ 2 ความเห็นของหลวงวิจิตรวาทการ
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของชาติไทย กล่าวถึงคำนี้ไว้ว่า “….พระนามของกษัตริย์วงศ์นี้
(วงศ์สุโขทัย) ก็ดี สิ่งต่างๆ ที่ทำไปในแผ่นดินกษัตริย์วงศ์นี้ก็ดี ล้วนเป็นทำนองพระอาทิตย์แรกขึ้น หรือพระอาทิตย์อุทัยทั้งสิ้น กษัตริย์องค์แรก ยังทรงพระนามว่า ศรีอินทราทิตย์ นครหลวงก็มีนามว่าสุโขทัย (สุข + อุทัย) พระนามของพระเจ้าแผ่นดินองค์หลังๆ ที่ว่าเลอไทย, ลิไทย, ไสยลือไทย นั้น ก็ล้วนประกอบจากคำว่า “อุไทย” ทั้งสิ้น
อนึ่งในชั้นเดิมที่พวกไทยเรายกมาจากดินแดนที่ประเทศจีนในเวลานี้นั้นก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งหญิงชายเหมือนกับจีนใน สมัยโบราณ แต่พอตั้งกรุงสุโขทัยไทยก็ตัดผม มีรูปเป็นวงกลมกลางกระหม่อม และโกนรอบข้างทำให้ผมตรงกลางมีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมที่ตัดใหม่นี้ว่า “มหาดอุไทย” นานมาหน่อย เราเขียน อุ กลายเป็น ฦ เลยกลายเป็น “มหาฦทัย” คนต่อไปเขียนหางตัว ฦ ยาวไปหน่อย
กลายเป็น ฎ เลยกลายเป็น มหาฎไทย ภายหลัง ฎ ชะฎา เขียนลำบาก จึงเป็น ด.เด็ก เลยกลายเป็นมหาดไทย จึงเป็น ผมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย มหาดไทยมณฑลอยู่ในเวลานี้ ซึ่งที่จริงมาจากคำว่า “มหาอุทัย” ซึ่งแปลว่าพระอาทิตย์แรกขึ้น อันเป็นความหมายของคำว่า “พระร่วง” นั่นเอง
สรุปว่า ท่านผู้นี้สันนิษฐานว่า “อักขรวิบัติ” ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังมาก ในบรรดาเอกสารโบราณของชาติไทย ที่ใช้วิธีคัดลอกต่อๆ กันมา ก่อนสมัยมีการพิมพ์หนังสือ
ความเห็นที่ 3 ข้อเสนอคำวินิจฉัยอีกกระแสหนึ่ง
ก่อนที่จะวินิจฉัยคำว่า มหาดไทย ใคร่ขอแยกประเด็นการพิจารณาเป็นขั้น ๆ ดังนี้ วินิจฉัยคำว่า “มหาด” ได้มีผู้วินิจฉัยคำนี้กันมามาก บางท่านก็วินิจฉันรวมทั้งความ คือ มหาดไทย และมหาดเล็ก แต่เมื่อมีคำว่า มหาดอาษาเกิดขึ้น จึงคิดว่า “มหาด” นี้อาจจะเป็นตำแหน่งราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นตำแหน่งพลเรือน หากจะแยกศัพท์ ดูจะได้ดังนี้ ศัพท์–มหาด มหา+อัต (โบราณนิยมเขียน “มหาต”)
- ตามความแปลในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493
มหา = ใหญ่
อัต = ตัวตน หรือลักษณะความเป็นตัวตน หรือบุคคล
เมื่อสนธิคำทั้งสองนี้เข้าด้วยกันตามหลักจะได้ศัพท์ว่า “มหาต” หรือ “มหาด” และจะได้ ความหมาย “คนที่เป็นใหญ่”(มหาต) ซึ่งเลื่อนมาเป็น มหาด นี้ เป็นเรื่องปกติของการแปรรูปศัพท์ และอักษรในภาษาไทย เช่น บิตา เป็น บิดา, ติฏฐ เป็น ดิตถ ฯลฯ แม้คำว่า “มหาดไทย” โบราณก็นิยมเขียน “มหาดไทย”
จากความหมายนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า “มหาด” คือ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ (ชั้นผู้ใหญ่) ถ้าจะเทียบกับข้าราชการปัจจุบันก็คงจะเป็นเจ้าหน้าที่เทียบเท่าชั้นสัญญาบัตร หรือประจำแผนกขึ้นไป จึงจะพอถือเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจได้ เพราะดูตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ดูประหนึ่งว่าจะต้องมีการแต่งตั้งด้วย
เมื่อได้ความหมายว่า “มหาด” คือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่แล้ว ความหมายของคำว่า มหาดไทย,มหาดเล็ก และมหาดอาษา ก็สามารถไขความได้หมด คือ
1. คำว่า มหาดไทย เฉพาะคำว่า “ไทย” พจนานุกรมแปลว่า เป็นใหญ่ หรืออิสระ ฉะนั้น มหาดไทยจึงแปลว่า “ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีอิสระพอที่จะสั่งปฏิบัติงานได้ด้วยอำนาจของตนเอง” (ตามที่ได้รับ มอบหมายไปจากผู้บังคับบัญชา) คือ มีอำนาจสั่งการหรือปฏิบัติการแก้ปัญหา
เฉพาะหน้าได้ทุกกรณีด้วย ตนเอง ตามหลักการที่ได้รับมอบหมายไว้ และตนเองจะต้องผูกพันรับผิดชอบในการปฏิบัตินั้น ๆ ด้วย
ดูก็จะตรงหน้าที่ของข้าราชการมหาดไทยในปัจจุบัน
2. คำว่า มหาดเล็ก เฉพาะคำว่า เล็ก โบราณเขียนเป็นเลก เข้าใจว่าคงจะเติมไม้ไต่คู้เข้าทีหลัง ศัพท์เดิมคงจะเป็น “มหาดเลก” เลก เป็นภาษาโบราณ แปลว่า คนฉกรรจ์ หรือ คนรับใช้ ฉะนั้น มหาดเลก จึงเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับใช้องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกับหน้าที่ของมหาดเล็กในปัจจุบัน มิใช่ว่ามหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมหาดเล็กเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย เพราะตำแหน่งมหาดเล็กเท่าที่มีอยู่ในเมืองไทยเรา มหาดเล็กที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชการบ้านเมืองก็มีอยู่ไม่น้อย บางรายมหาดเล็กมีอำนาจเหนือกว่ามหาดไทยก็มี แม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้โปรดตั้งข้าราชการมหาดเล็กในราชสำนักให้ด้วย ดังที่เป็นพระราชนิยมทรงปฏิบัติอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6
3. คำว่า มหาดอาษา คำว่า “อาษา” พจนานุกรม แปลว่า เต็มใจ หรือสมัคร ฉะนั้นคำว่า “มหาดอาษา” ก็คือ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจปฏิบัติราชการหรืองานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยอาษารับเข้ามาทำ และคงจะเป็นราชการเฉพาะเรื่องเฉพาะคราว เมื่อหมดงานก็คงจะหมดจากหน้าที่ไป ฉะนั้นตามความในพระราชกฤษฎีกาเรื่องที่กัลปนาเมืองพัทลุง เกรงว่า พวกข้าพระคนทานเหล่านั้นจะหลบหนีไปอาษาทำราชการอื่นใดเสียหมด (เมื่อคิดเบื่อหน่ายขึ้น) ก็จะไม่มีผู้ปฏิบัติวัดวาอารามตามที่มีพระราชกำหนดไว้ จึงได้ห้ามเป็นมหาดอาษา
คำหรือตำแหน่งมหาดอาษานี้ แม้ปัจจุบันจะมิได้ใช้เต็มรูปก็ยังมีตำแหน่งอาษาสมัครอยู่หลายตำแหน่ง ดังเช่น ตำแหน่งเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีตำแหน่งอาษาอยู่หลายตำแหน่ง เช่น อาษารักษาดินแดน ลูกเสือ อาสากาชาด
เป็นที่สังเกตว่า ตำแหน่งมหาดอาษาในสมัยโบราณสูญง่าย ผิดกว่าตำแหน่งฝ่ายมหาดไทยและมหาดเล็ก ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาดูก็ไม่เกิดความสนเท่ห์อย่างใด เพราะมหาดไทยและมหาดเล็กเป็นตำแหน่งราชการประจำ ซึ่งเทียบเท่ากับข้าราชการเฉพาะเรื่องเฉพาะคราว ทำนองข้าราชการวิสามัญชั่วคราว ในสมัยโบราณบางสมัยตำแหน่งมหาดอาษาคงจะเป็นตำแหน่งสำคัญ และมีเกียรติอาจได้รับพระราชทานบำเหน็จพิเศษ ถ้าเป็นข้าราชการ สำคัญ อาจถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษฉะนั้น ตำแหน่งมหาดอาษาเช่นว่านี้ จึงน่าจะเป็นตำแหน่งที่น่าริษยาของข้าราชการประจำทั่วไป เพราะแสดงว่าไม่สามารถจะหาข้าราชการประจำทั้งหมาดไทย และมหาดเล็กปฏิบัติราชกิจ
นั้นได้ ใครอาสารับสนอง ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาอาษาจึงมีเกียรติมีศักดิ์สง่าแก่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ
ความมีเกียรติของตำแหน่งมหาดอาษานี้เอง เป็นเหตุให้มหาดอาษาต้องสิ้นชื่อเร็ว เพราะเมื่อมีราชการสำคัญเกิดขึ้น พวกข้าราชการประจำก็คงจะรีบรับอาสาไปปฏิบัติจัดทำเสียเอง คือ ถ้าเป็นเรื่องเกิดขึ้นภายในราชสำนัก พวกมหาดเล็กก็คงไปปฏิบัติ ถ้าเกิดขึ้นในท้องที่ทั่วไป มหาดไทยก็คงรับมาปฏิบัติหมด ไม่ยอมปล่อยให้คนภายนอกไปรับอาสาเป็นมหาอาษาได้ เพราะการปล่อยให้บุคคล ภายนอกไปรับตำแหน่งมหาอาษาย่อมเป็นการแสดงถึงการหย่อนวุฒิและด้อยเกียรติแก่ตนเอง ฉะนั้น ตำแหน่ง “มหาอาษา” จึงสิ้นสูญไป
ความเห็นที่ 4 สำหรับอีกความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจ
กาญจนาคพันธ์ ได้เขียนเกี่ยวกับคำว่ามหาดไทยไว้ว่า ปทานนุกรมอธิบายคำ “มหาด” ว่าน่าจะมาจาก “มหัต” ภาษาสันสกฤตแปลว่าใหญ่หลวง แล้วให้คำแปล “มหาดไทย” ว่าไทยหลวง เป็นชื่อกระทรวงมีหน้าที่ในการปกครอง เค้าเงื่อนของคำ “มหาด” คงจะมาจากภาษาสันสกฤตจริงแต่อาจจะไม่ได้มาจากคำว่า “มหัต” โดยตรง ลางทีมาจากคำอื่น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับช้าง ดังจะลองสันนิฐานต่อไปนี้
มหาดไทย เป็นชื่อแพร่หลายสำคัญชื่อหนึ่งในวงงานปกครองของสยามประเทศเท่าที่เห็น ชื่อนี้ใช้ปรากฏเป็นครั้งแรกทีเดียว ก็ดูจะเป็นกฎหมายลักษณะอาญาหลวง ซึ่งออกในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง เมื่อปี พ.ศ. 1895 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในนั้นว่า “แลป้องกันผู้มีคดีแลผู้ร้ายไว้มิให้ส่งแก่ตระลาการ และต่อตีด่านายพทำมรง นายมหาดไทย นายดาบ นายนักการ นายคุมผู้ไปเรียกหา” ต่อมาก็พบในกฎหมายลักษณะโจร ซึ่งออกในปี พ.ศ. 1903 แผ่นดินเดียวกัน ความว่า “มาตราหนึ่งนายพทำมรงมหาดไทยท่านให้ไปเอาคนนักโทษแลให้คนบันดาเป็นโทษหนี ท่านให้นายพทำรงมหาดไทยเร่งหาจงได้ ถ้ามิได้โทษผู้หนีฉันใด ให้ลงโทษแก่ผู้ให้หนีดังนั้น ถ้าทรงพระกรุณาให้ฆ่าตีเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนังแลไม้หวายโดยโทษานุโทษ” ชื่อมหาดไทยที่ปรากฏเป็นครั้งแรกนี้ รู้ได้เพียงว่า ในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
ดูจะเป็นเพียงผู้คุมนักโทษคนหนึ่งเท่านั้นเอง
ชื่อมหาดไทยมาปรากฏสะดุดตาสะดุดใจให้เกิดความรู้สึกนึกคิด ก็ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งออกในปีจุลศักราช 821 (พ.ศ. 2002) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหลายแห่งที่ควรยกมากล่าวก็มีแห่งหนึ่งว่า “ถ้าขุนดาบมิได้ห้ามปรามไซ้ โทษขุนดาบสามประการ ทีหนึ่งให้
ภาคยธรรม สองทีส่งมหาดไทยจำ สามทีส่งองครักษ์จำ” “ลูกขุนผู้ใด ขุนดาบห้ามปราบมิฟัง ต่อด่าต่อเถียงไซ้ มีโทษสามประการ ประการหนึ่งให้ส่งมหาดไทย ประการหนึ่งให้ส่งองครักษ์ ประการหนึ่งให้สักลงหญ้าช้าง” แห่งหนึ่งว่า “อัยการลูกขุนพลเรือนหมู่ไพร่ พลทหารโทษอาญา และช้างม้างาเรือกเรือ สังกัดกฎหมายแลหญ้า แลงานณรงคสงคราม ทั้งนี้ พนักงานมหาดไทย” แห่งหนึ่งว่า “อนึ่ง ถ้าเสด็จพานช้างในเพนียด ถ้ามหาดไทยชาววังขาด โทษเท่าหนีศึก” จากข้อความในกฎมณเฑียรบาลที่นำลงไว้นี้ แม้จะไม่ได้ความกระจ่าง ก็ช่วยความมืดมนให้เป็น ๆ พอจะลงสันนิษฐานได้ 3 ประการ คือ
1. ราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมี 2 ส่วน
(ก) ราชการในพระองค์ หน้าที่องครักษ์
(ข) ราชการแผ่นดิน หน้าที่มหาดไทย
2. ราชการแผ่นดินแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายทหาร เป็นพนักงานกลาโหม (อัยการทุกรุ่นทหาร หมู่ไพร่พลอ้างเรี่ยวแรงอุกเลมิดพนักงานกลาโหม) ฝ่ายพลเรือน เป็นพนักงานมหาดไทย
3. มหาดไทย มีหน้าที่เกี่ยวกับช้าง
ตามที่รู้กันกฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายออกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 9 ต่อจากพระเจ้าอู่ทอง
แต่ถ้อยคำในกฎมณเฑียรบาลเป็นภาษาเก่ามาก เมื่อเทียบกับกฎหมายที่ออกในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองแล้วดูภาษาและสำนวนในกฎมณเฑียรบาล จะเก่ากว่าเสียด้วยซ้ำ เช่น เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระที่นั่ง” ซึ่งเป็นภาษาไทยดึกดำบรรพ์ที่สุด ชาติที่เรียก พระเจ้าแผ่นดินว่า “พระที่นั่ง”เหมือนไทยก็มีแต่ชาติอิยิปต์ ซึ่งเป็นชาติดึกดำบรรพ์ที่เจริญสูงสุด เก่าแก่ที่สุดชาติเดียว อียิปต์เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพาเราห์ (Pharoah) ซึ่งเรามักอ่านกันว่า ฟาโรห์ คำนี้มาจากคำว่า “เพรา” หรือ “พะรา” (Paroue) แปลว่าบ้านใหญ่ หมายถึงวังหลวง ก็ตรงกับคำว่า “พระที่นั่ง” ของไทยนั่นเอง อนึ่งคำว่า เพ – รา หรือ พะรา หรือ เป – รา หรือ ปะรา ก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ “ปรา” คือ ปรางปรา หรือ พระพลา พลับพลาของไทยคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินของไทยในกฎมณเฑียรบาลไปตรงกับภาษาอียิปต์โบราณเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าถ้อยคำสำนวนในกฎมณเฑียรบาล ย่อมจะเก่าแก่ ดึกดำบรรพ์ไม่ใช่น้อย จึงทำให้เชื่อว่า กฎมณเฑียรบาลต้องมีใช้มานานหนักหนาแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ บางทีของเก่าจะกระจัดกระจายกันอยู่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้มารวบรวมจัดทำขึ้นเป็นประมวลกฎหมายส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินต่อในรัชสมัยของพระองค์ก็เป็นได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชวนให้เข้าใจว่า มหาดไทยคงไม่ใช่มีฐานะเป็นเพียงนายพะทำมรง อย่างที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง แต่จะมีหน้าที่ในราชการแผ่นดินฝ่ายพลเรือนมาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์ และหน้าที่นั้นมีความสัมพันธ์กับช้างเป็นส่วนสำคัญอีกด้วย
อ่านกฎมณเฑียรบาลต่อไป ก็จะเกิดความสนใจในเรื่องช้างขึ้นอีก ในนั้นมีบทบัญญัติเกี่ยวกับช้างไว้มากมาย เป็นต้นว่าการคล้องช้างของพระเจ้าแผ่นดิน การทรงช้าง การพบช้างสำคัญ การเลี้ยงช้าง การประทุษร้ายต่อช้าง การรณรงค์สงครามเกี่ยวกับช้างพระราชพิธีเกี่ยวกับช้าง
ซึ่งเรื่องของช้างเหล่านี้เราจะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเพียงในราชการส่วนพระองค์เดียวแต่เป็นทั้งราชการแผ่นดินอีกด้วย เช่น ปูนบำเหน็จในการรณรงคสงคราม ยกเอาไชยชนะในการชนช้างขึ้นเป็นความชอบอย่างสำคัญ ตั้งแต่ผู้มีศักดินา 10,000 ลงมา จนไพร่พลชั้นต่ำทีเดียว ผู้ใดมีส่วนในการชนช้างชนะแล้ว เป็นต้องได้บำเหน็จ สูงต่ำมากน้อยตามลำดับ มหาดไทยได้รับหน้าที่เกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นทั้งราชการในพระองค์และราชการแผ่นดิน จึงย่อมจะต้องมีอะไรเป็นมูลมาแต่เดิม
จากข้อสังเกตในกฎมณเฑียรบาล เรื่องมหาดไทยได้นำเราไปถึงช้าง ในการสันนิษฐานคำ “มหาดไทย” จึงจะต้องจับเรื่องของช้างสาวขึ้นไป ในลำดับนี้จึงจะได้พูดเรื่องช้างก่อน ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ชาติไทย เราจะพบเรื่องช้างที่เด่นที่สุดอยู่สองเรื่อง เรื่องหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกครั้งหนึ่งพระเจ้าขุนรามคำแหงมหาราชชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดในสมัยสุโขทัย ทั้งสองเรื่องนี้ แสดงถึงความประเสริฐของช้างในการกู้บ้านกู้เมือง กับแสดงถึงความสามารถของไทยในการใช้ช้างเข้าณรงคสงคราม งานพระราชสงครามของสมเด็จพระนเรศวร กับของพระเจ้าขุนรามคำแหง ทำให้เรามองเห็นกองทัพช้างของเราแต่โบราณว่า คงจะมโหฬารพันลึก อย่างที่พรรณาไว้ในหนังสือต่างๆ จริงๆ ริ้วพระคชาธารในกองทัพช้างศึกประกอบล้วนแล้วไปด้วยช้างกระบวนต่างๆ
มีช้างดั้ง ช้างกัน ช้างแซก ช้างล้อมวัง ช้างค้ำ ช้างค่าย ช้างพังคา ช้างพระชัย ช้างพระคชาธาร ช้างพระที่นั่งกระโจมทอง ช้างโคตรแล่น
ช้างซับมัน เดินเป็นสี่สายรายเรียงแวดล้อมหน้าหลังข้างเคียงองค์พระมหากษัตริย์เป็นมหายุหโยธาทัพ ดูเป็นสง่าน่าเกรงขามยิ่งนัก ยุทธหัตถีกับกระบวนทัพช้างศึกดังกล่าวมานี้ทำให้เราหวนนึกย้อนกลับไปมองเห็นเหตุผลในกฎมณเฑียรบาลได้ว่า ทำไมจึงมีบทบัญญัติเรื่องช้างไว้มาก และกฎมณเฑียรบาลจะต้องเป็นของเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นไปเป็นแน่ หาไม่ไหนเลยจะสามารถในยุทธหัตถีมีกองทัพช้างอย่างมโหฬารเห็นปานนั้น ถ้าไทยไม่ชำนิชำนาญในการใช้ช้างมาก่อนโดยไม่ได้สืบต่อโบราณประเพณีไว้ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า
“กูขี่ช้างเนกพล กูขบเข๋า ก่อนพ่กู กูฎ่ช๋างด๋วยขุนสามชน ตนกูพู่งช๋าง ขุนสามชนตววขี่มาสเมืองแพ่ ขุนสามชนพ่ายหนี” ก็เห็นจะไม่มี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ทรงสันนิษฐานว่าไทยได้วิชาคชกรรมมาจากอินเดียตั้งแต่สมัยละว้า ข้อนี้เป็นความจริงโดยไม่ต้องสงสัย อินเดียเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปศาสตร์ อินเดียเป็นแหล่งใหญ่ของช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ ชาวอินเดียค้นคว้าหาความรู้ในทางบังคับเอาช้างมาใช้งานต่างๆ ที่นับว่าสำคัญก็คือใช้ช้างในการศึกสงคราม ในกองทัพอินเดียโบราณจัดกระบวนทัพเป็น 9 กอง เรียงลำดับเป็นกองน้อยไปหากองใหญ่ ทำนองเดียวกับที่จัดเป็นหมู่หมวดขึ้นไปหากองร้อยกองพันทุกวันนี้ แต่ละกองประกอบด้วยเสนาสี่เหล่า ที่เรียกว่า จตุรงคเสนา มีรถ ช้าง ม้า และ เสนาราบ กองต้น มีรถ 1 ช้าง 1 ม้า 3 เสนาราบ 5 แล้วก็จัดทวีขึ้นไปทีละ 3 ต่อกองเป็นลำดับ จนถึงกองที่แปด โดยเฉพาะช้างมี 2187 เชือก กองที่เก้าทวีขึ้นสิบเท่าจึงมีช้าง 21870 เสนาผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ทัพนายกองขี่ช้าง
ช้างเป็นกำลังสำคัญในกองทัพเช่นนี้ จึงมีตำราฝึกหัดใช้ช้างเป็นศาสตร์ประเภทหนึ่งเรียกว่า คชกรรม
ผู้สำเร็จวิชาคชกรรมย่อมบังคับช้างได้ผู้ชำนาญในการบังคับขับขี่ช้าง จึงนับถือกันว่าเป็นบุคคลสำคัญอย่างเยี่ยม
สยามเป็นดินแดนที่ชาวอินเดียภาคตะวันออก มีชาวองคราษฎร์เป็นอาทิ ได้มาติดต่อค้าขายตั้งแต่โบราณดึกดำบรรพ์ และชาวอินเดียบางพวก ได้อพยพมาตั้งภูมิลำเนาหากินด้วยดินแดนสยามแต่โบราณมา ปรากฏว่าเป็นแหล่งใหญ่ของช้างอีกแหล่งหนึ่ง ชาวสยามในครั้งโน้นเป็นไทยที่เรียกกันว่าละว้า ดังนี้ชาวอินเดียที่อพยพมาจึงได้มาสอนวิชาคชกรรมให้แก่ไทยละว้านับแต่จำเดิมแต่เกิดวิชา คชกรรมขึ้นในดินแดนสยามแล้ว วิชานี้ก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เพราะช้างเป็นประโยชน์ในการประกอบการงานต่าง ๆ เหมาะสมกับภูมิประเทศ และที่เป็นประโยชน์อย่างสำคัญที่สุด ก็คือในการทำศึกสงคราม ช้างได้ เป็นกำลังสำคัญอันยิ่งใหญ่ของไทยในสมัยที่อพยพข้ามแม่น้ำโขงลงมาแสวงนาที่ตั้งบ้านแปลงเมือง ประมุขของไทยหรือ พระเจ้าแผ่นดินตลอดจนแม่ทัพนายกองทุกคนจะต้องเรียนวิชา คชกรรมชำนิชำนาญ เพื่อประโยชน์ในการจับช้างมาฝึกหัดเข้ากองทัพทำสงครามแผ่เดชานุภาพขยายอาณาเขตต่อลงมา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์เรื่องจับช้างไว้แล้วในในนิทานโบราณคดี ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าการจับช้างเป็นงานใหญ่และสำคัญที่สุดของชาติไทยในสมัยโบราณครั้งนั้นเชื่อได้ว่าไทยจะต้องจับช้างใช้กันทั่วไป ตั้งแต่เหนือตลอดมาจนใต้ ชื่อเมือง “โพนพิสัย” ของไทยทางเหนือแสดงว่าคงจะเป็นถิ่น “โพน” ช้างคือจับช้างเดี่ยวทางภาคเหนือของไทยมาแต่โบราณชื่อ “วังพง” ของไทยแสดงว่าคงจะเป็นถิ่น “วังช้าง” คือจับช้างทั้งโขลงทางภาคใต้ของไทยมาแต่โบราณ ชื่อเมืองเกดดะห์ คือเมืองไซบุรีทางใต้ ก็เข้าใจว่าจะเป็นถิ่นจับช้าง โดยวิธีตั้งพะเนียดของไทยมาแต่โบราณเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะคำเกดดะห์นั้นว่าเป็นภาษามลายู แปลว่าที่จับช้างซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นได้ เพราะไทยเรียกเมืองเกดดะห์ว่าเมืองไซบุรี (มักเขียนไทรบุรี) ไซก็แปลว่าเครื่องดัก อนึ่ง ชาวองคราษฎร์มีวิธีจับช้างด้วยสร้างพะเนียดเรียกว่าเกดดะห์ ทางภาคใต้คงจะใช้วิธีจับช้างด้วยตั้ง เกดดะห์คือ พะเนียดตามอย่างชาวองคราษฎร์มาแต่โบราณ แถวเมืองเกดดะห์คงจะเป็นที่จับมาก แห่งหนึ่ง ตรงนั้นจึงได้ชื่อไปตามภาษาองคราษฎร์ว่าเกดดะห์ซึ่งกลายมาเป็นเมืองเกดดะห์คือไซบุรีเดี๋ยวนี้
วิชาจับช้าง วิชาบังคับขับขี่ช้าง วิชาหัดใช้ช้างเข้าสงคราม วิชาจัดกระบวนทัพช้างจะต้องกระทำกันมาเป็นระเบียบแบบแผนแล้วตั้งแต่สมัยไทยละว้า ดังเราจะเห็นว่าในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีวิชาจับช้างอยู่ในหมู่ชนพื้นสยามประเทศดั้งเดิมมีพวกข่าขมุต่าง ๆ หากินทางแซกโพนช้างตามถิ่นแม่น้ำโขง มีภาษาจับช้างของตนต่างหาก เรียกว่าภาษาส่วยช้าง ซึ่งมีคำสามัญเป็นคำไทยโบราณอยู่เป็นส่วนมากเป็นพยานหลักฐาน แสดงว่าวิชาจับช้างมีมาในประเทศดึกดำบรรพ์เก่าแก่แล้ว วิชาคชกรรมทุกแขนงเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการทำศึกสงคราม เมื่อไทยตั้งบ้านแปลงเมืองเป็นหลักฐานมีระเบียบแบบแผนในการปกครองแล้วเห็นคุณประโยชน์ยิ่งของช้างที่นับว่าเป็นคู่บ้านคู่เมืองอย่างสำคัญ จึงได้ตั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับช้างเป็นกฎมณเฑียรบาลขึ้น อันใดที่เห็นว่าเป็นสำคัญเกี่ยวกับช้างแล้ว เป็นบัญญัติลงไว้หมด พิจารณาตามกฎมณเฑียรบาลจะเห็นว่า ตั้งแต่องค์พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนเสนาอำมาตย์บริพาร จำเป็นจะต้องศึกษาเล่าเรียนวิชาคชกรรม เพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองในณรงคสงครามทุกคน การณ์จึง ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงรอบรู้วิชาคชกรรม บังคับขับขี่ช้างได้ชำนาญในศิลาจารึก นครชุมซึ่งเป็นจารึกของพระยาลือไทย (พระร่วงองค์ที่ 4) พะยานว่า การขี่ช้างคล้องช้างเป็นศาสตร์ คู่บ้านคู่เมืองไทยที่ถือกันว่าทุกคนจำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียนให้รู้ไว้ เพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน ทั่ว ๆ ไป เวลาเสด็จประพาสต่าง ๆ พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงช้าง เช่น เสด็จพระพุทธบาท
มีกระบวนช้างย่างน้อยถึง 144 เชือก เท่ากับเป็นการฝึกหัดช้างไปในตัว ขณะถึงพระพุทธบาทก็ทรงขับช้าง ไปหยุดหน้ามณฑปพระพุทธบาท ทรงรำพระแสงของ้าวถวายเป็นพุทธบูชา แล้วจึงจะเสด็จไปประทับที่ พระตำหนัก การรำพระแสงของ้าวก็คือท่ารำอาวุธในยุทธหัตถีนั่นเอง
ในยามปกติไม่ได้ออกศึกสงครามก็มีพระราชพิธีเกี่ยวกับช้างกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล เช่น พระราชพิธีออกสนามในเดือน 5 ตั้งปะรำยืนช้างเครื่องมีการล่อแพนผัดพาน ตำรวจขี่ช้างไล่ม้า ขุนช้างขี่ม้าล่อช้าง แล้วเดินกระบวนช้างม้าผ่านหน้าพระที่นั่ง มีมหรสพต่าง ๆ ครึกครื้น
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช้างก็ยังมีส่วนสำคัญในการศึกสงคราม ประเพณีเกี่ยวกับช้างคงเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยโบราณทุกอย่าง ช้างยังคงเป็นของคู่บ้านคู่เมืองมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
จากเรื่องของช้างตามที่พรรณนามา เราจะเห็นว่าช้างมีความสำคัญเกี่ยวกับประเทศชาติเพียงไร ไทยโบราณย่อมตระหนักถึงความสำคัญของช้างเป็นอย่างดีมาแต่แรกเริ่มแล้วเมื่อได้ครูผู้เชี่ยวชาญวิชาช้างมาสอนให้ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ถ่ายวิชาไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องถ่ายตั้งแต่ตัววิชาช้างคือ คชกรรมไปตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีกับช้างหมดความนิยมข้างอินเดียมี่อย่างไร ข้างไทยก็เป็นอย่างนั้น ช้างเป็นของโปรดของกษัตริย์ราชตระกูลในอินเดีย ถ้าเราหลับตานึกวาดภาพช้างไทย เราก็จะมองเห็นพระโอรสของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์คือ พระรามคำแหง ขี่ช้างคล่องแคล่วมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เห็นพระรามคำแหงขับช้างเนกพล พุ่งเข้าชนช้างมาสเมืองเจ้าเมืองฉอด เห็นพระเจ้ารามคำแหงทรง ช้างรูจาศรีศรัทธาหลานพ่อขุนเมืองไสช้างเข้าประสานงานกับช้างขุนจัง เห็นสมเด็จอักบาร์มหาราชสามารถขี่ช้างบ้านเมามัน ที่ใคร ๆก็ไม่อาจสามารถจะเข้าใกล้ได้ เห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (ปิยมหาราช) ทรงพระแสงของ้าวรำพัดชาบนกระพองช้างพระที่นั่งตรงหน้ามณฑปพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธบูชา ในส่วนพระราชพิธีออกสนามใหญ่ตามที่มีในกฎมณเฑียรบาล ระดม “พลพยุหดาบดั้งเขนเสโลหอกทวนปืนไฟหน้าไม้ธนูสรรพยุทธ เสื้อหมวกย้ายอบสนามตามกรทุกกระทรวงทหาร พ่อเรือนพลไพร่ ตั้งปรามช้างรอบสนามขุนหาญทั้ง 10 ขี่ช้างยืนที่…ตำรวจใหญ่ชนกลอนขี่ช้างไล่ม้า ขุนช้างขี่ม้าล่อช้าง…ครั้นรุ่งแล้ว นาฬิกาหนึ่งมหาดไทยรายทั้งขบวนในกลางสนามตามซ้ายตามขวา พลสรรพยุทธแห่ช้างเข้ายืนตามขบวนในท้องสนาม” หรือพิธีแห่สระสนานใหญ่ในสมัยสุโขทัย มีเดินสนานช้าง สนานม้า สามวัน ตลอดจน พิธีคชนทรัศวสนานในสมัยรัตนโกสินทร์ เอาเครื่องช้าง เครื่องม้า เครื่องพิชัยสงคราม อาวุธ ธงเข้าพิธี แล้วจัดกระบวนแห่เป็น
จตุรงคเสนา และพิธีแห่สระสนานใหญ่ เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ต้องขี่ช้างเข้ากระบวนแห่มีพระยาเพทราชา พระยากำแพง พระยาพระกฤษณรักษ์ กรมช้างนำ แล้วถึงเจ้าพระยาบดินทร์ เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี พระยา จ่าแสนยากรและพระยาอื่น ๆ ที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่อีกมากมาย ฯลฯ เหล่านี้เราจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับพิธีอาสุชวิธานำและพิธีทศระของอินเดียปัจจุบันไม่ผิดกันเลย
พิธีอาสุชวิะานำทำในเดือน 11 ขึ้น 5 ค่ำ พระมหากษัตริย์และทหารชำระอาวุธ ทหารถืออาวุธขึ้นขี่ช้างขี่ม้าลองเชิงแล่นไปหน้าที่นั่ง
เป็นการสำแดงเพลงอาวุธถวายพระมหากษัตริย์พร้อมกัน พิธีทศระทำในวันขึ้น 10 ค่ำ ซึ่งชาวฮินดูถือว่าเป็นวันที่พระรามยกพยุหแสนยากรไปทำสงครามกับทศกรรณฐ์ จึงเป็นวันสำคัญสำหรับกษัตริย์และนักรบ หากจะทำสงครามตีบ้านเมืองใดก็กรีธาทัพในวันนี้ พิธีเริ่มด้วยตั้งพระราชอาสน์ทำสักการะ แล้วระดมช้าง ม้า คานหาบ รถสัปคับ โล่ดั้งเขน สรรพอาวุธ ยุทโธปกรณ์และธงไชยเฉลิมพล ทำพิธีบูชาเสร็จแล้วเดินช้างเดินม้าผ่านหน้าพระที่นั่ง ตกบ่าย 3 นาฬิกา จัดช้างเครื่องประมาณ 100 เชือกยืนเรียงราย หน้าพระลานตามลำดับยศเสนาอำมาตย์ผู้ขี่ พอได้เวลาช้างเชิญราชธวัชประจำองค์มหาราชา พร้อมด้วยกลองศึกก็ย่องออกมาจากประตูพระราชวัง สักครู่ช้างพระที่นั่งองค์มหาราชาก็ปรากฎขึ้นที่พระทวารใหญ่ ขุนพลแม่ทัพตีกลองศึกทำสะลามเป็นอาณัติสัญญาณ ที่นั้นช้างเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่ยืนเรียงราย ก็เริ่มออกเดินเข้ากระบวนเสด็จเป็นลำดับกระบวนพยุหยาตราค่อย ๆ เคลื่อนไปยังชายเขตราชธานีซึ่งจัดเป็นที่ประกอบพิธีมีต้นศมี (Prosopis spicigera) ปลูกไว้เป็นสำคัญ หมาราชลงจากหลังช้างขึ้นประทับบนอาสน์ภายใต้ต้นศมีอันเป็นมณฑลพิธีกระทำบวงสรวงต้นศมีเสร็จแล้ว ชักพระขรรค์ออกตัดผลฟักทอง (Cucurbita pepo) ถวายเป็นเทวพลี แทนบูชายัญด้วยสัตว์ซึ่งทำมาแต่โบราณ จากนั้นพวกเสนาอำมาตย์ก็เข้าแย่งกันเก็บใบอาปตะ (Bauhinia tornentosa ส้มเสี้ยว) ซึ่งประดับอยู่รอบ ๆ ต้นศมี โดยสมมุติว่าเป็นทอง มหาราชาเสด็จขึ้นช้างทรงกระบวนเคลื่อนออกเสียงถวายพรจากเสนาอำมาตย์ ราชบริพาร ตลอดจนทวยราษฎรก์แซ่ซ้องบันลือขึ้นว่า “ศรีมัณมหาราชา วิชยี ภาวะ” แปลว่า ขอความสำเร็จจงมีแด่องค์พระมหาราชา พิธีอาสุชวิธานำ หรือพิธีทศระของอินเดีย ตามที่เล่ามานี้ เห็นว่าจะเป็นแบบอย่างขนบธรรมเนียมประเพณี ให้เกิดพิธีออกสนานใหญ่ตามที่กล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งเรียกในสมัยสุโขทัยว่าพิธีแห่สระสนานใหญ่ และ เรียกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า พิธีคเชนทรัศวสนานนั้นเป็นแน่ สรุปความว่าเรื่องอันใดที่เกี่ยวกับช้างแล้ว อินเดียเป็นครูบาอาจารย์ของไทยทั้งสิ้น และไทยก็เป็นศิษย์ที่ถอดแบบอาจารย์ไว้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งจะต้องเป็นมาแล้วตั้งแต่สมัยไทยละว้าดึกดำบรรพ์โน้น
บัดนี้จะได้กลับเข้าเรื่องที่ว่า มหาดไทยเกี่ยวข้องกับช้างอย่างไร ในตอนต้นได้กล่าวมาแล้วว่าช้างเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองเป็นของคู่บ้านคุ่เมือง ไทยโบราณตระหนักในความสำคัญของช้างดี จึงได้เรียนวิชาคชกรรมจากชาวอินเดียจนชำนิชำนาญทุกด้านทุกแขนงถ่ายแบบอย่างขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เกี่ยวกับช้างมายึดถือสืบทอดเป็นสำลัดมาไม่ขาดสาย เพราะช้างก็ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเป็นที่ประจักษ์ในพงศาวดารตลอดมาแล้ว ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในกองทัพช้างศึกที่ได้ กำเอาชัยชนะอย่างยอดไว้ ส่อให้เห็นว่าไทยเป็นชาติเชี่ยวชาญในวิชาคชกรรม พระเจ้าแผ่นดินทุก พระองค์ตลอดจนเสนาอำมาตย์ราชบริพารทุกคนตั้งแต่โบราณมาจะต้องศึกษาวิชาคชกรรมมีความสามารถในการบังคับขับขี่ช้างได้อย่างชำนิชำนาญ
อันความนิยมของอินเดียในสมัยโบราณนั้น ยกย่องเรียกเสนาอำมาตย์ชั้นสูงทั่วไปว่า “มหามาตร” เป็นคำสันสกฤต แปลตามตัวว่า
“หลักใหญ่” เป็นความหมายว่า มีสติปัญญาความรู้ความสามารถนับถือเอาเป็นหลักได้ ถ้าจะเทียบกับไทยก็ใกล้กับคำว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่”
ของเรา และถ้าจะเทียบทาง ยศศักดิ์ ก็ดูจะเป็นอย่างที่เราเรียกเสนาอำมาตย์ชั้นสูงของเราว่าเสนาผู้ใหญ่ อำมาตย์ผู้ใหญ่ หรือขุนนาง
ผู้ใหญ่ อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าจะลองเดาต่อไป คำว่า “มหามาตร” ที่อินเดียเรียกเสนาอำมาตย์ชั้นสูงนี้เอง อาจจะเป็นต้นเค้าทางไทยเราให้บังเกิดมีคำสร้อยเรียกขุนนางชั้นสูงว่า ขุนนางผู้ใหญ่ เสนาผู้ใหญ่หรืออำมาตย์ผู้ใหญ่ขึ้นก็ได้ การที่อินเดียเรียกเสนาอำมาตย์ชั้นสูงว่า
“มหามาตร” ก็เนื่องด้วยเสนาอำมาตย์ชั้นสูง ย่อมจะต้องเชี่ยวชาญในวิชาคชกรรม มีความสามารถบังคับขับขี่ช้างได้คล่องแคล้ว ชำนิชำนาญทุกคน คำว่า “มหามาตร” จึงเป็นคำยกย่องที่มีความหมายถึงว่า เป็นผู้แตกฉานแล้วในวิชาช้างมีความสามารถในเชิงบังคับขับขี่ช้างได้เป็นอย่างดีวิเศษ เป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นบุคคลสำคัญยอดเยี่ยมตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า “มหามาตร” นี้มาเรียกเป็นภาษาฮินดูว่า
“มหาวัต” หมายถึง เป็นชำนาญการบังคับขับขี่ช้างโดยตรง
ชาวอินเดีย เป็นผู้นำเอาวิชาคชกรรมมาให้แก่ไทยละว้าในการนี้จึงเชื่อได้สนิทว่าคงจะได้นำเอาคำ “มหาวัต” สำหรับเรียกผู้ชำนาญการบังคับขี่ช้างตามที่นิยมเรียกกันในอินเดียมาใช้ด้วย คำว่า “มหาวัต” คงจะเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ชำนาญการบังคับขับขี่ช้างของไทยมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น
แต่คำว่า “มหาวัต” นั้นเป็นคำแขก เมื่อว่าถึงการเขียนเป็นตัวหนังสือ อย่างที่เขียนอยู่เดี๋ยวนี้ก็อ่านได้ตรงว่า “มหาวัต” แต่ถ้าว่าถึงพูดออกเสียงอย่างแขกซึ่งพูดเร็ว คำว่า “มหาวัต” ก็ฟังเป็น “มห๊าต” เสียง “มห๊าต” นี่เองที่เชื่อว่า จะต้องกลายมาเป็น “มหาด” ในภาษาไทยพยานหลักฐานที่จะอ้างได้ใน ข้อนี้ก็คือมีคำ MAHOUT ของฝรั่งอยู่คำหนึ่งที่ใช้กันแต่โบราณในอินเดีย หมายถึงผู้ขับขี่ช้าง คำ MAHOUT นี้
มาจากคำว่า “มหาวัต” เช่นเดียวกัน ฝรั่งคงจะฟังแขกพูดคำว่า “มหาวัต” เร็วตามประสาแขกพูด จึงได้เขียนคำนี้เพี้ยนไป ตามที่หูได้ยินคล้ายไทยคือ MAHOUT (อ่านว่า มะห๊าวต์) และใช้เป็นคำเรียกผู้ขับขี่ช้างในอินเดียสืบต่อมาจนทุกวันนี้ ตกคำว่า “มหาวัต” หรือ “มห๊าต”
ซึ่งมาจากคำ “มหามาตร” ของอินเดียคำนี้เองได้กลายมาเป็น MAHOUT (มะห๊าวต์) ในภาษาฝรั่ง และได้มาเป็น “มหาด”ในภาษาไทย
ในสมัยโบราณคำว่า มหาด คงจะใช้ในพวกไทยละว้าเป็นคำยกย่อง สำหรับเรียกผู้ชำนาญ การบังคับขับขี่ช้าง ก็แหละในสมัยนั้นเสนาอำมาตย์ราชบริพารชั้นสูงทุกคนต้องเป็นผู้ชำนาญในการบังคับขับขี่ช้าง เพราะทุกคนจะต้องออกณรงคสงคราม เสนาอำมาตย์ราชบริพารชั้นสูง
จึงได้ชื่อว่าเป็น “มหาด” ทุกคน ทั้งนี้ก็คือรับเอาตำรา “มหาวัตร” อันมาจาก “มหามาตร” ซึ่งเป็นคำยกย่องเรียกเสนาอำมาตย์ชั้นสูงตามที่นิยมกันที่อินเดีย เพราะเชี่ยวชาญเชิงวิชาช้างมาใช้นั่นเอง
โดยเหตุที่อาจารย์ชาวอินเดียก็เรียกกันว่า “มหาด” และลูกศิษย์ที่เป็นไทยก็เรียกว่า “มหาด” เหมือนกัน พวก “มหาด” ในสมัยไทยละว้าโบราณ จึงย่อมจะมีเป็นสองพวก พวกหนึ่งเป็นชาวอินเดียแท้ คือเป็นพวกครูบาอาจารย์ใหญ่ อีกพวกหนึ่งเป็นไทยคือ พวกเสนาอำมาตย์ราชบริพาร ของพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง ดังนั้น จึงน่าจะเกิดคำเรียกแยกให้ต่างกัน โดยเรียกพวกไทยที่เป็นเสนาอำมาตย์
ราชบริพารแม่ทัพนายกองของพระเจ้าแผ่นดินว่า “มหาดไทย” คือหมายถึงว่าเป็นพวก “มหาด” ที่เป็น “ไทย” ดังนี้คำว่า “มหาดไทย”
จึงได้เกิดมีขึ้น
ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ๆ แสนยานุภาพของไทยอยู่ที่กองทัพช้าง พระเจ้าแผ่นดินเป็นจอมทัพช้าง บรรดาเสนาอำมาตย์ราชบริพารชั้นแม่ทัพนายกองในสมัยนั้น ต้องชำนาญการขับขี่ช้างโดยเสด็จงานพระราชสงครามทั่วหน้า พวกนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็น “มหาด” หรือ “มหาดไทย” ทั้งหมด แต่ พระราชกิจจานุกิจของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมมีทั้งราชการในพระองค์และราชการแผ่นดิน ราชการใน พระองค์ ย่อมจะต้องมีข้าใกล้ชิดส่วนพระองค์เป็นอีกพวกหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “เลข” หรือ “เลก” ฉะนั้น ข้าในพระองค์ที่เป็น “มหาด” คือผู้ชำนาญการบังคับขี่ช้างที่ได้เป็นแม่ทัพนายกอง ออกงาน พระราชสงครามด้วย (ในสมัยโบราณทุกคนจะต้องออกรบทัพจับศึก) จึงน่าจะมีชื่อแยกเรียกขึ้นใหม่ว่า “มหาดเลข” หรือ “มหาดเลก” คือ หมายถึงว่าเป็น “มหาด” ที่เป็น “แลก” หรือเป็นข้าในพระองค์เป็นเหล่าหนึ่งต่างหากจากพวก “มหาดไทย” คำว่า “มหาดเล็ก” จึงเกิดมีขึ้น ต่อมาคำว่า “มหาเลก” คงจะเขียนเพี้ยนมาเป็น “มหาดเล็ก” และ หมายถึงข้าราชการใน พระองค์ดังที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ในสมัยต่อมา คำว่า “มหาดไทย” แปรความหมายคลี่คลายไปจากเดิม ที่เป็นดังนี้ คงเป็นเพราะเสนาอำมาตย์ราชบริพารในครั้งโบราณไม่มีหน้าที่ประจำตัว ยามศึกสงครามก็ใช้ออกรบหมด ยามว่างศึกสงครามก็ใช้ในราชการแผ่นดินต่าง ๆ สุดแต่พระเจ้าแผ่นดินจะมีพระกระแสรับสั่ง จะใช้ให้ไปทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ก็เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่นั้นเป็น “มหาดไทย” ด้วยกันทุกคน เพราะต่างก็เป็นผู้ชำนาญในการบังคับขี่ช้างออกงานพระราชสงครามได้รับคำยกย่องเรียกกันว่า “มหาดไทย” เหมือนกันหมด เมื่อพวก “มหาดไทย” เหล่านั้นต้องไปปฎิบัติราชการในยามปรกติมหาดไทยจึงได้เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือน (เพราะว่างศึกสงคราม) ขึ้นอีก ราชการฝ่ายพลเรือนที่สำคัญก็มีการปกครองฝ่ายหัวเมือง
ซึ่งย่อมจะต้องอาศัย “มหาดไทย” คือขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยส่งออกไปดูแลต่าง พระเนตรพระกรรณ มหาดไทยก็เลยเข้าไปมีหน้าที่ครอบคลุมราชการแผ่นดินกว้างขวางออกไปอีก ราชการปกครองหัวเมืองไม่ว่างานอะไรขึ้นอยู่กับ “มหาดไทย” ทั้งสิ้น
อนึ่ง “มหาดไทย” แท้ ๆ คือ ตัวขุนนางผู้ใหญ่หรือเสนาผู้ใหญ่ หรืออำมาตย์ผู้ใหญ่ทุกคน ต่างก็มีเลขสมสังกัดคละมาก ๆ พวกนี้ เรียกว่าพวกสังกัดมหาดไทย ก็ย่อมจะต้องใช้ชื่อว่าเป็นพวกมหาดไทยไปด้วย ชื่อ “มหาดไทย” ก็เลยแพร่หลายแผ่กว้างออกไปในวงการปกครองทั่ว ๆ ไปมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์
อันการปกครองทั่วไปย่อมจะต้องมีชั้นมีลำดับ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปกครองจะต้องมีเกียรติ อันนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดมียศและบรรดาศักดิ์เมื่อยศและบรรดาศักดิ์มีขึ้น ก็ถือยศและบรรดาศักดิ์เป็นสำคัญ “มหาดไทย” ทุกคนย่อมจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงต่ำแล้วแต่ตำแหน่งหน้าที่และออกชื่อเรียกกันตามบรรดาศักดิ์ ความนิยมเรียกบรรดาศักดิ์นี้แหละจะต้องเป็นเหตุให้ชื่อ “มหาดไทย” เดิมค่อยจางเลือนหายไปจากเป็นชื่อเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่เข้าทุกที ความผันแปรอันนี้คงจะเป็นมาก่อนสมัยสุโขทัยแล้วในสมัยสุโขทัยไม่พบคำว่า “มหาดไทย” เลย มาปรากฎชื่อนี้เป็นครั้งแรกก็ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวงในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองซึ่งบ่งว่าเป็นพนักงานฝ่ายปกครองทีเดียว
ขอย้อนสรุปกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า “มหาดไทย” ตั้งแต่โบราณมาเป็นคำยกย่องเรียกเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่ชำนาญในการบังคับขี่ช้าง
สาเหตุที่จะกลายมาเป็นพนักงานพลเรือนฝ่ายปกครองก็เพราะเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ที่เรียก “มหาดไทย” นั้นในเวลาปกติได้บังคับบัญชาราชการแผ่นดินต่าง ๆ เช่น เป็นนครบาลและเป็นเจ้าบ้านการเมืองต่างพระเนตร พระกรรณทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่ใช่เป็นราชการศึกสงครามก็เรียกว่าเป็นราชการพลเรือน คำว่า “มหาดไทย” ในชั้นเดิมไม่ใช่หน้าที่ราชการ แต่หมายถึงตัวบุคคล คือ เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่ไปปฏิบัติราชการพลเรือนโดยตรง และเมื่อมีราชการอันใดเกี่ยวกับการปกครองทางด้านนั้น เช่น นครบาลคือในกรุง หรือด้านหัวเมือง ก็ย่อมจะว่ากันว่าเป็นหน้าที่ของ “มหาดไทย” ซึ่งเป็นความหมายว่าเป็นหน้าที่ของเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่คนนั้น ๆ เมื่อใช้มากเข้าภาษาก็เลือนไป คำว่า “มหาดไทย” ก็เลยเป็นคล้าย ๆ กับหน้าที่ราชการกลาย ๆ ครั้นเกิดมีบรรดาศักดิ์ขึ้น นิยมเรียกตัวบุคคลตามบรรดาศักดิ์คำว่า “มหาดไทย” ซึ่งเป็นคำยกย่องอยู่เดิมและใช้เลือนอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นเหมือนกับหน้าที่ราชการ และเพราะราชการพลเรือนมีหน้าที่มากมายหลายฝ่าย ซึ่งทำให้คำว่า “มหาดไทย” เดิมแพร่ไปเป็นคำกลาง ๆ อยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นคำกลาง สำหรับเรียกหน้าที่ราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไปจริง ๆ ความผันแปรของคำ “มหาดไทย” ซึ่งได้กลายจากคำยกย่องเรียกเสนาอำมาตย์ ผู้ใหญ่ที่ชำนาญการขับขี่ช้างมาเป็นหน้าที่ราชการพลเรือนฝ่ายปกครองตามที่กล่าวมานี้ คงจะได้มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยนานทีเดียวมหาดไทยจึงมาปรากฎเป็นพนักงานพลเรือนฝ่ายปกครองขึ้น โดยตรงในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการวางระเบียบการปกครองประเทศให้เข้ารูป มีการรวบรวมกฎมณเฑียรบาลเก่า ซึ่งคล้ายรัฐธรรมนูญกับบัญญัติกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือน และศักดิ์นาหัวเมือง ซึ่งคล้ายพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยเหตุที่ “มหาดไทย” ได้คลี่คลายจากความหมายเดิม ผันแปรมาจนกลายเป็นราชการพลเรือนฝ่ายปกครอง
ซึ่งจะต้องถือเป็นแบบแผนมาก่อนสมัยสุโขทัยมาถึงแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง จึงเป็นพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวมาแล้ว พระองค์จึงได้ทรงจัดให้ทหารเป็นพนักงานฝ่ายกลาโหม ให้พลเรือนเป็นพนักงานฝ่ายมหาดไทยตามที่ ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลนั้น และเพราะเหตุที่ “มหาดไทย” เดิมเป็นพวกช้างจึงให้มหาดไทยเป็นพนักงานช้างด้วยในกฎหมายนาพลเรือน ตำแหน่งหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นสมุหนายก บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์อัครเสนาธิบดีอภัยพิริปรากรมพาหุเอกราชสีห์ ถือตรา พระราชสีห์ ศักดินา 10,000
หลวงมหาอำมาตย์ยาธิบดีพิริยาพาหุ เป็นตำแหน่งมหาดไทยฝ่ายเหนือ หลวงจ่าแสนบดีศรีบริบาล เป็นตำแหน่งมหาดไทยฝ่ายพะลำพัง คือมหาดไทยฝ่ายกลาง (ลำพังแปลว่ากลาง แต่เติมคำว่าพะลงไปข้างหน้า จึงเป็นพะลำพัง พะก็คือพระ) การที่มีแต่ตำแหน่งมหาดไทยฝ่ายเหนือกับมหาดไทยฝ่ายกลาง ซึ่งหมายถึงราชธานีไม่มีมหาดไทยฝ่ายใต้นั้น เป็นการบ่งว่า ในชั้นเดิมไทยมีแต่หัวเมืองทางเหนือก่อนยังไม่ได้ขยายลงมาทางใต้ พระเจ้าแผ่นดินส่ง “มหาดไทย” คือขุนนางผู้ใหญ่ไปปกครองแต่หัวเมืองทางเหนืออันเป็นอาณาเขต จึงมีแต่มหาดไทยฝ่ายเหนือ ไม่มีมหาดไทยฝ่ายใต้ ก็สมัยที่ไทยปกครองทางเหนือนี้เป็นสมัยโบราณดึกดำบรรพ์ตั้งแต่อพยพลงมา จึงเป็นเครื่องสนับสนุนว่า
คำ “มหาดไทย” ที่กลายมาเป็นพนักงานพลเรือนฝ่ายปกครองจะต้องกลายมาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์แล้ว กรมช้างมาไว้ในทำเนียบนาพลเรือน เพราะมหาดไทยโบราณเป็นพวกช้างดังกล่าวแล้ว จางวางช้าง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหพระคชบาลศักดินา 50,000 (พระเพทราชา มักอ่านหรือเรียกกันเสียงสั้นเป็นพระเพ็ทราชาที่ถูกต้องจะอ่านเสียงยาวเป็นเพทราชา เพราะเพทก็แผลงจากเวทหมายถึงว่ามีเวทมนต์คาถาบังคับช้างได้)
มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงจัดวางระเบียบการปกครองใหม่ตามที่ปรากฎในพระราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน “มหาดไทย” ซึ่งในสมัยดึกดำบรรพ์หมายถึง ผู้ชำนาญการบังคับขับขี่ช้าง ใช้เป็นคำยกย่องเรียกเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ก็กลายมาเป็นกระทรวงมีหน้าที่ราชการในด้านการปกครองเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นประธานของราชการพลเรือนในด้านการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้